Tag Archives: อุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีพื้นที่ครอบคลุมอยุ่ในท้องที่อำเภอสิเกา และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่ทางทะเลอันดามัน ประกอบด้วยป่าชายเลน หญ้าทะเล เกาะแก่ง มีหาดทรายขาวนวลเรียงยาวไปตามผืนแผ่นดินกว่า 20 กิโลเมตร และสนทะเลตามธรรมชาติอันสวยงาม อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 144,292.35 ไร่ หรือ 230.87 ตารางกิโลเมตร

วนอุทยานแหลมหยงลำได้มีหนังสือส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นวนอุทยานแหลมหยงลำเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณากำหนดที่ดินบริเวณแหลมหยงลำเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเห็นสมควรให้กำหนดพื้นที่แหลมหยงลำ หาดยาว หาดสั้น หาดเจ้าไหม และหาดปากเมง เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าคลองไหโละ ป่าคลองปอ และป่าคลองกันตัง ในท้องที่ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลบางสัก ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ 144,300 ไร่ หรือ 230.88 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 170 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 36 ของประเทศไทย

ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติป่าคลองไหโละ ป่าคลองปอ และป่าคลองกันตัง ในท้องที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2532 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่152 ลงวันที่ 13 กันยายน 2532 จำนวน 0.012 ตารางกิโลเมตร เพื่อทำการก่อสร้างโรงเรียนบ้านหาดยาว ของสำนักงานประถมศึกษาอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมในปัจจุบันคงเหลือเพียง 230.868 ตารางกิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติเขาสก

อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน พื้นที่ราบมีน้อย พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านทิศเหนือบริเวณคลองพระแสงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะ มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 960 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฝั่ง คือทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี และจะตกชุกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ช่วงที่เหมาะในการเข้าไปชมอุทยานแห่งชาติเขาสกจะอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม – เมษายน ของทุกปี

สัตว์ป่าประกอบไปด้วยสัตว์นานาชนิด ได้แก่ ช้าง กวาง เสือ หมี สมเสร็จ ชะนี ลิง เลียงผา นกชนิดต่าง ๆ เป็นต้น สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น กบทูด และพันธุ์ปลาที่หายากประจำถิ่น ได้แก่ ปลามังกร รวมถึงในอดีตเคยมีบันทึกว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกระซู่ ด้วย โดยในปลายปี พ.ศ. 2508 มีพรานท้องถิ่นสามารถยิงกระซู่ได้ในปลักกลางป่า ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2530 สืบ นาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่สำรวจค้นหาโดยใช้เวลา 10 วัน ไม่เจอตัว แต่ได้พบร่องรอยเมื่อฤดูฝนปีที่ผ่านมา

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้นมีพรรณไม้มีค่า เช่น โดแหลม ตะเคียน ยาง ตาเสือ หงอนไก่ กระบาก ยมหอม อินทนิน ฯลฯ และยังประกอบด้วยพันธุ์ไม้พื้นล่างมากมาย ที่น่าสนใจ ได้แก่ “บัวผุด” เป็นพันธุ์ไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ไม้ที่ขึ้นปะปนกันระหว่างพันธุ์ไม้ในเขตภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ

อุทยานแห่งชาติปางสีดา

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 41 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 527,500 ไร่ หรือประมาณ 844 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเป็นที่ศึกษาเรื่องสัตว์ป่าที่สำคัญ เพราะมีสัตว์ป่าหายากและนก กว่า 300 ชนิด เช่น นกเงือก นกยูง ฯลฯ รวมถึงมีแหล่งจระเข้น้ำจืด ซึ่งเชื่อว่าเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ประมาณร้อยละ 95 ภูมิประเทศส่วนใหญ่ครอบคลุมไปด้วยพื้นที่ป่า เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก โดยมีความลาดชันจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 – 878 เมตร มียอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยลำธารหลายสาย

ลักษณะป่ามีทั้งลักษณะของ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ชนิดของพรรณไม้ที่พบอยู่ทั่วไป ได้แก่ พญาไม้ มะขามป้อมดง สนสามพันปี กำลังเสือโคร่งยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน กระบาก ยางปาย เคี่ยมคะนอง เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น เต็ง รัง เหียง พลวง มะขามป้อม รกฟ้า เป็นต้น

มีสัตว์ป่าหายากรวมทั้งนกไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด อาศัยอยู่ ตัวอย่างสัตว์ป่าที่พบได้แก่ช้าง กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เก้ง กวางป่า กระจง ชะนีมงกุฎ นากเล็กเล็บสั้น เม่นแผงคอใหญ่ นกเงิอก นกยูง ปลาชนิดต่างๆ ฯลฯ

แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติปางสีดา เช่น จุดชมวิว กม.25 ทุ่งหญ้าบุตาปอด น้ำตกแควมะค่า น้ำตกแดงมะค่าและน้ำตกสวนมั่นสวนทอง น้ำตกถ้ำค้างคาว น้ำตกทับเทวา น้ำตกท่ากะบาก น้ำตกธารพลับพลึง น้ำตกปางสีดา น้ำตกผาตะเคียน น้ำตกหน้าผาใหญ่ ภูเขาเจดีย์

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากพลี อำเภอบ้านนา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และ อำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย และได้รับสมญานามว่าเป็น “อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน”

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณมี 3,000 ชนิด,นกมี 250 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป

ในสมัยก่อน การเดินทางติดต่อระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนั้น มีอุปสรรคคือจะต้องผ่านป่าดงดิบขนาดใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมายทั้งสัตว์ร้ายและไข้ป่า ผู้คนที่เดินทางผ่านป่านี้ล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงได้ขนานนามว่า ดงพญาไฟ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านในคราวเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา ทรงเห็นว่าชื่อดงพญาไฟนี้ ฟังดูน่ากลัว จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านก็ได้เข้ามาจับจองพื้นที่กัน โดยเฉพาะบนยอดเขา โดยถางป่าเพื่อทำไร่ และในปี 2465 ได้ขอจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่ แต่ด้วยการที่จะเดินทางมายังยอดเขานี้ค่อนข้างลำบากห่างไกลจากการปกครองของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ตำบลเขาใหญ่จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของโจรผู้ร้าย จนกระทั่งปี 2475 ทางราชการได้ส่งปลัดจ่างมาปราบโจรผู้ร้ายจนหมด แต่สุดท้ายปลัดจ่างก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ได้ตั้งเป็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือจนปัจจุบันนี้

หลังจากปราบโจรผู้ร้ายหมดลงแล้ว ทางราชการเห็นว่าตำบลเขาใหญ่นี้ยากแก่การปกครอง อีกทั้งปล่อยไว้จะเป็นแหล่งซ่องสุมโจรผู้ร้ายอีก จึงได้ยุบตำบลเขาใหญ่ และให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเขาทั้งหมดย้ายลงมาอาศัยอยู่ข้างล่าง ป่าที่ถูกถางเพื่อทำไร่นั้นปัจจุบันคือยังมีร่องรอยให้เห็นเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ บนเขาใหญ่นั่นเอง

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ยอดสูงสุดของภูสอยดาวสูงจากระดับน้ำทะเล 2,102 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย อุทยานแห่งนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น และการผจญภัยขึ้นสู่ลานสนสามใบอันสวยงาม มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว แต่เดิมเป็นวนอุทยานภูสอยดาว ได้สำรวจจัดตั้งเป็นวนอุทยานภูสอยดาว โดยสำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 มีพื้นที่เพียง 20,000 ไร่ จนกระทั่งปีงบประมาณ พ.ศ. 2535 กรมป่าไม้ได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกทำการสำรวจพื้นที่ เพิ่มเติมเพื่อผนวกเข้ากับพื้นที่เดิมของวนอุทยานภูสอยดาว ผลการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และในเขตป่าไม้ถาวรตามป่าภูสอยดาวท้องที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ป่าภูสอยดาว ท้องที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ตามมติคณะรัฐมนตรีได้เนื้อที่รวม 48,962.5 ไร่ หรือ 78.34 ตารางกิโลเมตร

ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกได้ขอจัดตั้งวนอุทยานภูสอยดาวเป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ได้รายงานให้กรมป่าไม้ทราบว่า พื้นที่วนอุทยานภูสอยดาวเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเห็นสมควรที่จะรักษาพื้นที่ป่าแห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ สามารถผนวกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติได้อีกเป็นจำนวนมาก โดยกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จนกระทั่งปี 2551 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา